รากชนเผ่า: ความเชื่อที่หลงเหลืออยู่ของชนเผ่าในฟิลิปปินส์

หน้าแรก ย้อนกลับ รากชนเผ่า: ความเชื่อที่หลงเหลืออยู่ของชนเผ่าในฟิลิปปินส์

รากชนเผ่า: ความเชื่อที่หลงเหลืออยู่ของชนเผ่าในฟิลิปปินส์

ที่มา https://www.freepik.com/home 

 

รากชนเผ่า: ความเชื่อที่หลงเหลืออยู่ของชนเผ่าในฟิลิปปินส์

          ความเชื่อฝังลึกลงไปเหมือนรากของไม้ยืนต้นที่มั่นคงและถาวร ทว่าบางสิ่งกลับเข้ามาเปลี่ยนแปลง
ความเชื่อนั้นเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยที่ยังคงดำเนินอยู่ สิ่งนั้นเราเรียกว่าความเจริญ และความเจริญมักเกิดขึ้นกับทุก ๆ ที่เช่นเดียวกับ ‘ฟิลิปปินส์’ ประเทศที่หลากหลายไปด้วยชาติพันธุ์และความเชื่อท้องถิ่น ก่อนความเจริญและ
ความเชื่อทางศาสนาจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีความเชื่อของพวกเขาไปโดยไม่รู้ตัว

          ชนเผ่ากับความเชื่อที่ดำรงอยู่ด้วยการปรับตัว

          ฟิลิปปินส์เป็นประเทศแห่งหมู่เกาะที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ความเชื่อ รวมไปถึงขนบประเพณีที่ผสมผสานระหว่างความเชื่อพื้นถิ่นดั้งเดิมและความเชื่อทางศริสต์ศาสนา โดยคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกจากสเปนเข้ามามีบทบาทต่อชาวฟิลิปปินส์ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 เรื่อยมาจนขยายไปทั่วทุกพื้นที่ของฟิลิปปินส์ ไม่เว้นแม้กระทั่งหมู่เกาะ หรือภูเขาที่อยู่ห่างไกล ดังนั้นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมกว่า 106 กลุ่มที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวจึงได้รับอิทธิพลจากคริสต์ศาสนาและเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ทว่ายังคงมีบางกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังคงรักษาความเชื่อดั้งเดิมไม่ให้กลืนกลายไปกับความเชื่อทางคริสต์ศาสนา หากแต่ปรับประยุกต์เข้ากับความเชื่อดั้งเดิมของพวกเขาเพื่อสามารถดำเนินชีวิตในโลกยุคปัจจุบันได้ “ชนเผ่าอิฟูเกาและชนเผ่าคาลิงกา” แห่งเกาะลูซอนคือหนึ่งในนั้น และพวกเขาไม่เคยละทิ้งรากความเชื่อดั้งเดิมที่ผูกพันกับจิตวิญญาณของตนเอง นั่นคือธรรมชาติ ภูตผี และบรรพบุรุษ

รูปนาขั้นบันไดบานาเวในฟิลิปปินส์

ที่มา https://www.freepik.com/home 

 

ชนเผ่าอิฟูเกาและเทพเจ้าโบลูน

ที่มา วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. (2559). “ลิงลิงโอ” เครื่องรางก่อนประวัติศาสตร์ ที่ยังคงสืบเนื่องความหมายสำหรับชาวอิฟูเกาในฟิลิปปินส์. สืบค้น 26 มกราคม, จาก https://lekprapai.org/home/view.php?id=5030

 

          ชนเผ่าอิฟูเกา มาจากคำว่า “i-pugo” หมายถึง “คนของภูเขา” สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชนเผ่าอิฟูเกาที่ทำนาแบบขั้นบันไดมาตั้งแต่ในสมัยบรรพบุรุษ โดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ (2561, ออนไลน์) กล่าวถึงเอกลักษณ์ของชนเผ่าอิฟูเกาเอาไว้ว่า ชนเผ่าอิฟูเกามีความเชื่อในเรื่องผีและมีชีวิตผูกพันอยู่กับธรรมชาติ ฤดูกาล และพิธีกรรมแบบสังคมชาวนา โดยมีความเชื่อว่าโลกแบ่งเป็น 5 ส่วนคือ โลกมนุษย์ โลกฟากฟ้า โลกใต้พิภพ โลกเหนือท้องน้ำและลำห้วย และโลกใต้ท้องน้ำและลำห้วย ซึ่งแต่ละพื้นที่มักมีผีดูแลแทบทั้งสิ้น หากมีคนในหมู่บ้านเจ็บป่วยหรือพืชผลทางการเกษตรไม่ดีคนในชนเผ่าอิฟูเกามักทำพิธีขอขมาจากธรรมชาติ โดยการล่าหัวมนุษย์ต่างชนเผ่าเพื่อนำมาบูชาเพราะเชื่อว่าธรรมชาติสามารถบันดาลเรื่องดีหรือแย่ได้

          ทว่าเมื่อมิชชันนารีมาถึงที่นี่โดยการใช้ชีวิตรวมไปถึงความเชื่อเหล่านี้ก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ชนเผ่าอิฟูเกาเปลี่ยนจากการนับถือผีมาเป็นการเข้าโบสถ์คริสต์ทุก ๆ วันอาทิตย์ รวมไปถึงเลิกพิธีกรรมล่าหัวมนุษย์แต่พวกเขาหันมาบูชาไม้แกะสลัก เรียกว่า “เทพเจ้าโบลูน” ซึ่งเชื่อว่าเป็นตัวแทนของผีบรรพบุรุษที่ยังคอยปกปักรักษาผืนนาและชีวิตของพวกเขาเอาไว้ นอกจากนี้เมื่อยุคสมัยเคลื่อนเข้าสู่ความทันสมัยการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์จึงถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญสำหรับชนเผ่าอิฟูเกา ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงนี้จึงเป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิตที่สร้างความตระหนักให้ผู้คนรับรู้ถึงการมีอยู่ รวมไปถึงสร้างอัตลักษณ์ที่ดีให้แก่หมู่บ้านด้วยเช่นกัน

      

รูปชนเผ่าคาลิงกา

ที่มา Wikipedia the free encyclopedia. (2023). Kalinga people.
From https://en.wikipedia.org/wiki/Kalinga_people

 

          ชนเผ่าคาลิงกา ชนเผ่าโบราณที่อาศัยอยู่ในหุบเขา Cordillera ในหมู่เกาะลูซอน ยึดอาชีพเกษตรกรรมและช่างฝีมืออันโดดเด่นอย่าง “การสักลาย” หรือ “บาต็อก” ซึ่งถือเป็นพิธีกรรมกว่าพันปี โดยการสักจะมีทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมมาตั้งแต่สมัยโบราณเนื่องจากไม่มีอาภรณ์ปิดบังเรือนร่าง การสักลายจึงเปรียบเสมือนลวดลายที่ปกปิดร่างกายพวกเขา นอกจากนี้รอยสักยังบ่งบอกถึงสถานะของผู้สักได้ เช่น รอยสักในผู้ชายคือการบอกว่าเขาคือนักรบที่เก่งกาจที่สุดในหมู่บ้าน หรือหากเป็นรอยสักในผู้หญิงอาจบอกถึงคนรักที่มีในอดีตของเธอ เป็นต้น

          แม้รอยสักของชนเผ่าคาลิงกาจะเป็นเพียงลวดลายที่เรียบง่าย เช่น ตะขาบ งู ฝน เฟิร์น เส้นขนาน บันได นกอินทรีย์ นาฬิกาทรายหรือครกข้าว ทว่าลวดลายเหล่านี้กลับเกี่ยวพันไปถึงความเชื่อของชนเผ่าที่มีต่อธรรมชาติและไสยศาสตร์ด้วยเช่นกัน เช่น ลายเฟิร์นบ่งบอกถึงความพร้อมในการตั้งครรภ์และมีสุขภาพแข็งแรง รวมไปถึงป้องกันสิ่งชั่วร้ายขณะคลอดบุตร ลายนาฬิกาทรายและครกข้าวบ่งบอกถึงสถานะทางบ้านที่ร่ำรวย ลายงูเหลือมบอกถึงการคุ้มครองชีวิตให้ปลอดภัย และลายตะขาบเป็นสัญลักษณ์ของการนำทาง นอกจากนี้ในทางไสยศาสตร์ลายสักเหล่านี้สามารถอำพรางสายตาจากศัตรูได้ รวมไปถึงชนเผ่าคาลิงกายังเชื่อเรื่องโลกหลังความตายอีกว่าหากตายไปแล้วไม่ว่าใครก็ไม่สามารถเอาเครื่องประดับไปได้ เว้นแต่การสักที่จะติดตัวพวกเขาไปสู่ภพภูมิหน้าด้วย

          แต่เมื่อมิชชันนารีและความเจริญของยุคสมัยเดินทางถึงยังพื้นที่แห่งนี้ การสักลายจึงกลายเป็นสิ่งต้องห้าม พวกเขาหันมาสวมเสื้อแทนการสักลายเพื่อปิดบังเรือนร่าง และไม่มีพิธีกรรมเพื่อสักลายสำหรับนักรบของชนเผ่าอีกต่อไป ลายสักที่เป็นดั่งชีวิตและรากเหง้าวัฒนธรรมจึงถูกกลืนกลายไปกับความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงไปของคนใน
ชนเผ่า ทว่า “อาโป วังออด” หรือที่รู้จักในนามว่า “ช่างสักคนสุดท้ายแห่งชนเผ่าคาลิงกา” ซึ่งมีอายุมากกว่า 106 ปี ยังคงถ่ายทอดวิชาแก่หลานสาว และยึดการสักเป็นอาชีพมานานกว่า 90 ปี ดังนั้นการสักลายจึงยังคงดำเนินต่อไปในฐานะสิ่งที่สร้างรายได้ให้แก่ชนเผ่า ทว่าเหนือสิ่งอื่นใดหัวใจของพวกเขายังคงไม่ลืมรากวัฒนธรรมของตนเอง และสืบสานมันโดยการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย

          ในท้ายที่สุดแล้ว แม้ว่าสิ่งใดจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเชื่อไป หากสิ่งที่พวกเขาไม่เคยละทิ้ง คือรากเหง้าดั้งเดิมของตนเอง ดังนั้นแม้ว่ายุคสมัยจะดำเนินต่อไปแต่พวกเขาจะยังคงปรับตัวเพื่อรับมือกับความทันสมัยที่เข้ามาอย่างไม่อาจหยุดยั้ง สิ่งเหล่านี้จึงเป็นหนทางเดียวที่จะสามารถดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันเก่าแก่ และไม่ทำให้มันสูญหายไปตามกาลเวลา

 

ดวงกมล การไทย. (2559). ฟิลิปปินส์-ศาสนาและความเชื่อ. สืบค้น 12 มกราคม, จาก https://www.sac.or.th/
databases/southeastasia/subject.php?c_id=7&sj_id=65

ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์. (2566). อาโป วังออด ช่างสักโบราณอายุ 105 ปี ที่อาจเป็นคนสุดท้ายของชนเผ่าคาลิงกาในฟิลิปปินส์. สืบค้น 21 มกราคม, จาก https://adaymagazine.com/whang-od/

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. (2559). “ลิงลิงโอ” เครื่องรางก่อนประวัติศาสตร์ ที่ยังคงสืบเนื่องความหมายสำหรับชาวอิฟูเกาในฟิลิปปินส์. สืบค้น 26 มกราคม, จาก https://walailaksongsiri.com/2018/05/17/ifugal/

Thai PBS. (2558). Spirit of Asia: เปิดตำนานรอยสักแห่งชนเผ่ากาลิงกา. สืบค้น 12 มกราคม, จาก https://www.thaipbs.or.th/program/SpiritofAsia/watch/oedaeV

ATLAST OF HUMANITY. (n.d.). Kalinga people, Philippines. From https://www.atlasofhumanity.org
/kalinga

Wikipedia, the free encyclopedia. (2023). Kalinga people. From https://en.wikipedia.org/wiki/
Kalinga_people

แชร์ 93 ผู้ชม

คติความเชื่อ

องค์ความรู้